วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

รวมธรรมเทศนา ของพระอรหันต์

รวมธรรมเทศนา ของพระอรหันต์

เรื่อง พระอรหันต์ในบ้าน  - สมเด็จพระพุฒาจารย์ โตพรหมรังสี



เรื่อง อานิสงส์ของการรักษาศีล 5 - หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต




ภาวนาให้ใจอยู่ใน พุทโธ - หลวงตามหาบัว  ญาณสัมปันโน



พระโสดาบัน - หลวงพ่อฤาษีลิงดํา




ตัดกรรม - หลวงพ่อพุธ ฐานิโย



การละกิเลสด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา - หลวงพ่อพุธ ฐานิโย



ขอให้ลูกมีดวงตาเห็นธรรมเหมือนองค์ท่านด้วยเทอญ...สาธุ


ประวัติพระอรหันต์ประเทศไทย สาย ธรรมยุต

ชีวประวัติพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน)




เพลงประวัติหลวงตามหาบัว (ขับร้อง:เพลิน พรมแดน)

พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) หรือที่นิยมเรียกกันว่า หลวงตามหาบัว หรือ หลวงตาบัว (12 สิงหาคม พ.ศ. 2456 - 30 มกราคม พ.ศ. 2554) เป็นพระภิกษุนิกายเถรวาทคณะธรรมยุติกนิกาย ฝ่ายอรัญวาสีวิปัสสนาธุระ ชาวจังหวัดอุดรธานี และเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด (วัดเกษรศีลคุณ) องค์แรก ท่านเป็นหนึ่งในศิษย์ของพระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต) ซึ่งมีโอกาสอุปฐากรับใช้หลวงปู่มั่นในช่วงปัจฉิมวัยและเป็นผู้หนึ่งที่ได้บันทึกประวัติของหลวงปู่มั่นโดยละเอียดในเวลาต่อมา

หลวงตามหาบัวเป็นที่รู้จักในฐานะพระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานผู้มีปฏิปทาที่มั่นคง แน่วแน่ เด็ดขาด และจริงจัง บรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่มั่นต่างนับถือกันว่าท่านเป็นลูกศิษย์องค์หนึ่งที่มีปฏิปทาที่คล้ายคลึงกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต การกล่าวขวัญถึงท่านในหมู่ผู้ศรัทธามีหลายเรื่องค่อนไปในเชิงอภินิหาร เช่น การล่วงรู้วาระจิตของบุคคลอื่น การที่เศษผม เศษเล็บ และชานหมากของท่านกลายเป็นพระธาตุไปตั้งแต่ครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ เป็นต้น[ต้องการอ้างอิง]

หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2540 หลวงตามหาบัวได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นทั้งในและนอกประเทศ จากการที่ท่านได้ดำเนินการทอดผ้าป่าทองคำและเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ชื่อ "โครงการผ้าป่าช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน" เพื่อใช้เป็นทุนสำรองของประเทศไทย ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ได้ดำเนินการมาโดยตลอดในช่วงปัจฉิมวัยของท่าน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปัจฉิมวัยนี้เองได้มีเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่านเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองจากนักวิชาการและนักสื่อสารมวลชนจำนวนหนึ่ง เช่น ประเด็นการคัดค้านการรวมบัญชีเงินทุนสำรองของประเทศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ประเด็นการคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสงฆ์ฉบับใหม่ และการเทศนาวิพากษ์วิจารณ์พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วง พ.ศ. 2548 เป็นต้น

ชาติกำเนิด

พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) หรือ หลวงตามหาบัว เดิมมีชื่อว่า "บัว โลหิตดี" เกิดวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2456 ณ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี มีพี่น้องทั้งหมด 16 คน ในวัยเด็กท่านเป็นคนที่เลื่อมใสในศาสนาพุทธ โดยได้ทำบุญตักบาตรกับผู้ใหญ่อยู่เสมอ




อุปสมบท

เมื่อท่านอายุครบอุปสมบทแล้ว บิดาและมารดาของท่านปรารถนาให้ท่านบวชด้วยหวังพึ่งใบบุญ แต่ท่านก็ไม่ตอบรับ ทำให้บิดาและมารดาของท่านถึงกับน้ำตาไหล ท่านจึงกลับพิจารณาออกบวชอีกครั้ง ที่สุดจึงตัดสินใจออกบวชโดยท่านกล่าวกับมารดาว่า "เรื่องการบวชจะบวชให้ แต่ว่าใครจะมาบังคับไม่ให้สึกไม่ได้นะ บวชแล้วจะสึกเมื่อไหร่ก็สึก ใครจะมาบังคับว่าต้องเท่านั้นปีเท่านี้เดือนไม่ได้นะ" ซึ่งมารดาก็ตกลงตามที่ท่านขอ

ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ที่วัดโยธานิมิตร ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยได้ฉายานามว่า "ญาณสมฺปนฺโน" แปลว่า "ถึงพร้อมแล้วด้วยญาณ" ท่านมีความเคารพเลื่อมในเรื่องการภาวนาและกรรมฐาน ท่านได้สอบถามวิธีการภาวนาจากพระอุปัชฌาย์ของท่านและได้รับการแนะนำให้ภาวนาว่า "พุทโธ" ท่านจึงปฏิบัติภาวนาและเดินจงกรมเป็นประจำ



เรียนปริยัติ

ระหว่างนั้นท่านเริ่มเรียนหนังสือทางธรรมและศึกษาเกี่ยวกับพุทธประวัติ รวมทั้งพุทธสาวก โดยหลังจากพุทธสาวกเหล่านั้นได้รับพระโอวาทจากพระพุทธเจ้าแล้วจะเดินทางไปบำเพ็ญในป่าอย่างจริงจังจนสำเร็จอรหันต์ ทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใสและตั้งใจปฏิบัติเพื่ออรหัตผลให้ได้ จึงตั้งสัจอธิษฐานว่า เมื่อเรียนจบเปรียญธรรม 3 ประโยคแล้วจะออกปฏิบัติกรรมฐานโดยถ่ายเดียว

อย่างไรก็ตาม ท่านยังสงสัยว่า ถ้าท่านดำเนินตามแนวทางปฏิบัติตามพระสาวกเหล่านั้น จะสามารถบรรลุถึงจุดที่ท่านเหล่านั้นบรรลุหรือไม่ และมรรคผลนิพพานจะมีอยู่เหมือนครั้งพุทธกาลหรือไม่ ความสงสัยเหล่านี้ทำให้ท่านมุ่งหวังได้พบกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งท่านเชื่อมั่นว่าท่านอาจารย์มั่นจะสามารถไขปัญหานี้ให้ท่านได้

ท่านเดินทางศึกษาพระปริยัติในหลายแห่ง อาทิ วัดสุทธจินดาวรวิหาร จังหวัดนครราชสีมา, วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) เป็นอาจารย์สอนปริยัติธรรม จากนั้น ท่านเดินทางไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ เวลานั้นพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านได้อาราธนานิมนต์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ขอให้ไปจำพรรษาที่จังหวัดอุดรธานี พระอาจารย์มั่นรับนิมนต์นี้และได้เดินทางมาพักที่วัดเจดีย์หลวงชั่วคราวจึงทำให้ท่านได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ครั้งแรก ท่านศึกษาทางปริยัติที่วัดแห่งนี้ จนสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 3 ประโยคใน พ.ศ. 2484 นับเป็นปีที่ท่านบวชได้ 7 พรรษา



ปฏิบัติกรรมฐาน







หลังสำเร็จการศึกษาทางปริยัติ ท่านเดินทางไปจังหวัดนครราชสีมาเพื่อปฏิบัติกรรมฐานได้ระยะหนึ่ง จึงเดินทางไปจังหวัดสกลนครโดยตั้งใจไปถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่น โดยพระอาจารย์มั่นรับท่านเป็นลูกศิษย์และได้พูดขึ้นว่า

...ท่านมาหามรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน? ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ฟ้าอากาศเป็นฟ้าอากาศ แร่ธาตุต่าง ๆ เป็นของเขาเอง เขาไม่ได้เป็นมรรคผลนิพพาน เขาไม่ได้เป็นกิเลส กิเลสจริง ๆ มรรคผลจริง ๆ อยู่ที่ใจ ขอให้ท่านกำหนดจิตจ่อด้วยสติที่หัวใจ ท่านจะเห็นความเคลื่อนไหวของทั้งธรรมของทั้งกิเลสอยู่ภายในใจ แล้วขณะเดียวกัน ท่านจะเห็นมรรคผลนิพพานไปโดยลำดับ...(หลวงปู่มั่น)


คำกล่าวนี้ทำให้ท่านเชื่อมั่นว่ามรรคผลนิพพานมีจริงและเชื่อมั่นพระอาจารย์มั่นที่ไขข้อข้องใจได้ตรงจุด ท่านรักษาระเบียบวินัยข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด หลังจากศึกษาอยู่กับพระอาจารย์มั่นในพรรษาที่ 2 ท่านเริ่มหักโหมความเพียรในการปฏิบัติกรรมฐาน จนผิวหนังบริเวณก้นช้ำระบมและแตกในที่สุด พระอาจารย์มั่นเตือนว่า "กิเลสมันไม่ได้อยู่กับร่างกายนะ มันอยู่กับจิต" ซึ่งท่านก็น้อมรับคำเตือนของพระอาจารย์มั่นทันที

อย่างไรก็ตาม ด้วยจริตนิสัยของท่านเรื่องการภาวนานั้นถูกกับการอดอาหารเพราะทำให้ธาตุขันธ์เบาสบาย การตั้งสติทำสมาธิภาวนาก็ง่าย และช่วยให้การบำเพ็ญจิตภาวนาเจริญขึ้นได้เร็วกว่าขณะที่ออกฉันตามปกติ แม้มีผู้คัดค้านก็ไม่ทำให้ท่านเปลี่ยนใจได้ ด้วยท่านพิจารณาแล้วว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุอดอาหารเพื่อบำเพ็ญจิตตภาวนาได้ แต่ไม่ใช่เพื่อการโอ้อวดหรืออดเพียงอย่างเดียวโดยไม่ฝึกฝนด้านจิตภาวนาเลยซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น ท่านจึงใช้อุบายนี้เพื่อบำเพ็ญจิตตภาวนาเรื่อยมา

ในพรรษาที่ 10 ท่านฝึกสมาธิจนมั่นคงหนักแน่นและสามารถอยู่ในสมาธิได้เท่าไหร่ก็ได้ ท่านมีความสุขอย่างยิ่งจากที่จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ท่านติดอยู่ในขั้นสมาธิอยู่ถึง 5 ปี โดยไม่ก้าวหน้าสู่ขั้นปัญญา จนกระทั่ง พระอาจารย์มั่นจึงให้อุบายเพื่อให้ท่านออกพิจารณาทางด้านปัญญาและเตือนท่านว่า "...สมาธิของพระพุทธเจ้า สมาธิต้องรู้สมาธิ ปัญญาต้องรู้ปัญญา อันนี้มันเอาสมาธิเป็นนิพพานเลย มันบ้าสมาธินี่ สมาธินอนตายอยู่นี่หรือเป็นสัมมาสมาธิ..." ท่านจึงออกจากสมาธิและพิจารณาทางด้านปัญญาต่อไป
ท่านได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 แรม 14 ค่ำ เดือน 6 เวลา 5 ทุ่มตรง บนหลังเขาซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร



ก่อตั้งวัดป่าบ้านตาด

ด้วยเหตุที่โยมมารดาของท่านล้มป่วยเป็นอัมพาต ท่านจึงพาโยมมารดากลับมารักษาตัวที่บ้านตาดอันเป็นบ้านเกิด หลังรักษาตัวหายขาดแล้ว ท่านพิจารณาเห็นว่าโยมมารดาของท่านก็อายุมากแล้ว จะพาไปอยู่ในถิ่นถุรกันดารเพื่อการปลีกวิเวกตามนิสัยของท่านจะทำให้โยมมารดาลำบาก ประจวบกับเวลานั้นชาวบ้านตาดมีความประสงค์ให้ท่านตั้งวัดขึ้นที่นั่นเช่นกัน โดยชาวบ้านร่วมกันถวายที่ดินให้เป็นที่ตั้งวัด ดังนั้น วัดป่าบ้านตาดจึงเริ่มก่อตั้งขึ้น ณ หมู่บ้านบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่ พ.ศ. 2498[9] ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2513 โดยให้ชื่อว่า "วัดเกษรศีลคุณ"




มรณภาพ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขารพระธรรมวิสุทธิมงคล



                                          หลวงตา มหาบัว ละ สังขาร หรือ นิพพาน


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศโถเป็นเกียรติยศแก่พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) บนศาลาการเปรียญวัดป่าบ้านตาด



สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขารพระธรรมวิสุทธิมงคล พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (ขวา) ณ วัดเกษรศีลคุณ วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554
พระธรรมวิสุทธิมงคล อาพาธลำไส้อุดตัน และมีปอดติดเชื้อมานานกว่า 6 เดือน คณะแพทย์ถวายการรักษาอย่างต่อเนื่อง และมีการสร้างกุฏิปลอดเชื้อให้แก่พระเดชพระคุณ แต่อาการอาพาธไม่ดีขึ้น จนเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554 เวลา 02.49 น. ตรวจพบสมองของพระเดชพระคุณหยุดทำงานใน ต่อมา ตรวจพบม่านตาขยายไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ออกซิเจนในเลือดเป็น 0 จากนั้นเวลา 03.53 น. ความดันโลหิตมีค่าเป็น 0 หัวใจหยุดเต้นและหยุดการหายใจ สิริอายุได้ 97 ปี 5 เดือน 18 วัน 77 พรรษา



สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขารพระธรรมวิสุทธิมงคล


พิธีพระราชทานเพลิง หลวงตามหาบัว (แบบเต็ม)



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเป็นประธานพิธีถวายน้ำหลวงสรงศพพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) และทรงวางพวงมาลาหลวง พวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พวงมาลาส่วนพระองค์ และพวงมาลาของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานโกศโถและทรงรับพระพิธีธรรมไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ 7 วัน  และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานบำเพ็ญพระราชกุศล 1 วัน  โดยโปรดให้พระเทพสารเวที (บุญยนต์ ปุญฺญาคโม) ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้แทนพระองค์เดินทางมาร่วมประกอบพิธีธรรม จากนั้นจึงเปิดให้พ่อค้า ประชาชน ส่วนราชการต่าง ๆ เป็นเจ้าภาพตลอดไป

ส่วนพินัยกรรมที่ท่านเขียนตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 นั้น สรุปความได้ว่า ให้นำทองคำที่ได้รับบริจาคไปหลอม ส่วนเงินสดที่ได้รับบริจาคให้นำไปซื้อทองคำ แล้วนำมาหลอมรวมและมอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นทุนสำรองเงินตราของฝ่ายบำบัดธนาคารแห่งประเทศไทย และไม่มีเจตนาให้ใช้ในงานอื่น โดยตั้งพระสุดใจ ทนฺตมโน รองเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด เป็นผู้จัดการมรดก รวมทั้งตั้งคณะกรรมการจัดงานศพและจัดการดูแลทรัพย์สินทั้งปวงอีก 9 คน


การช่วยเหลือสังคม

ด้านสาธารณสุข

การสงเคราะห์ด้านสาธารณสุขนั้นเป็นสิ่งที่ท่านเอาใจใส่มาโดยตลอด โดยท่านสอนเสมอว่า "มนุษย์เราไม่ว่าจะยากดีมีจนล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน ดังนั้นท่านจึงไม่ให้ประมาทกัน ควรช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพราะหากมนุษย์ไม่ช่วยสงเคราะห์มนุษย์ด้วยกันแล้วใครจะช่วย เรื่องความเจ็บป่วยนั้น เจ็บไปแค่หนึ่งแต่ครอบครัวก็ป่วยด้วยความห่วงใยอีกเท่าไหร่ ดังนั้น จึงควรเห็นใจกัน" ท่านมักออกเยี่ยมโรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นประจำ พร้อมนำข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องใช้ต่าง ๆ ไปมอบให้เสมอ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารท่านจะให้ความช่วยเหลือทุกด้านทั้งอาหารการกินและเครื่องมือแพทย์ ส่วนโรงพยาบาลที่อยู่บริเวณอู่ข้าวอู่น้ำท่านจะช่วยเหลือทางด้านเครื่องมือแพทย์ไป ก่อนสงเคราะห์ด้านปัจจัย ท่านจะพิจารณาถึงความจำเป็นของเครื่องมือ รวมถึงกิริยามารยาทของหมอพยาบาลในการปฏิบัติต่อผู้ป่วยว่าเป็นอย่างไร จะสามารถนำเครื่องมือที่ท่านมอบให้ไปใช้เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยได้จริงหรือไม่ และเมื่อมีโอกาสอันควร ท่านจะแสดงธรรมเตือนหมอพยาบาลและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอยู่เสมอ

ท่านให้การสงเคราะห์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในหลาย ๆ ด้าน ทั้งให้ปัจจัยซื้ออุปกรณ์การแพทย์ รถพยาบาล ที่ดิน สร้างและปรับปรุงตึกของโรงพยาบาล เป็นต้น รวมทั้งตั้งกองทุนและมูลนิธิหลายแห่งเพื่อช่วยเหลือคนพิการหรือผู้ป่วยไร้ยาก เช่น กองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากจนและไร้ที่พึ่ง มูลนิธิรวมเมตตามหาคุณ นอกจากนี้ ท่านยังให้ความอนุเคราะห์สถานพยาบาลต่าง ๆ กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่าและลาวด้วย


สงเคราะห์หน่วยงานราชการ

เนื่องจากท่านได้พิจารณาว่าหน่วยงานราชการต่าง ๆ มีหน้าที่โดยตรงในการช่วยเหลือ บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน ดังนั้น เมื่อหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น สถานีตำรวจภูธร สถานีรถไฟจังหวัด ทัณฑสถานหญิง กรมราชทัณฑ์ มาขอความช่วยเหลือ ถ้าท่านพิจารณาเห็นสมควร ท่านก็จะช่วยเหลือเต็มที่ทั้งอาหารการกิน เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึง การก่อสร้าง เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ มากราบท่าน ท่านก็มักแสดงธรรมเพื่อให้ข้อคิดแก่เจ้าหน้าที่เหล่านั้น เช่น อย่ายึดติดลาภยศสรรเสริญ อย่ากินบ้านกินเมือง อย่าเห็นแก่ตัวให้เห็นประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง

โครงการช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

โครงการช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หรือที่เรียกทั่วไปว่า โครงการผ้าป่าช่วยชาติ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2540 เนื่องจากท่านเดินทางไปแจกสิ่งของตามโรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดารทำให้ทราบว่าโรงพยาบาลต่าง ๆ มีหนี้สินเป็นอันมากซึ่งเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เปลี่ยนไป อันเป็นผลมาจากวิกฤติทางการเงินของประเทศ ท่านรู้สึกสลดใจเป็นอันมากจึงดำริที่จะช่วยชาติโดยน้อมนำให้ชาวไทยทั่วประเทศร่วมกันบริจาคทองคำ เงินดอลลาร์ เงินสกุลต่างประเทศ และเงินบาท เพื่อช่วยชาติบ้านเมืองที่กำลังประสบสภาวะเศรษฐกิจและสังคมตกต่ำให้ฟื้นฟูและผ่านพ้นไปด้วยดี โดยเงินทองที่ได้มาจากการบริจาคนี้จะยกให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อนำเข้าบัญชีฝ่ายออกบัตร (คลังหลวง) ทั้งหมด

โครงการช่วยชาติได้รับเงินบริจาคเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2541 เป็นเงิน 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ และเริ่มดำเนินโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2541 โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีทรงเป็นประธานเปิดโครงการ[21] ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553 ได้มอบเงินเข้าคลังหลวงรวมทั้งสิ้น 15 ครั้ง รวมเป็นทองคำแท่ง 967 แท่ง 12,079.8 กิโลกรัม หรือ 388,000 ออนซ์ ส่วนเงินตราต่างประเทศประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท

หลังหลวงตามหาบัวมรณภาพโครงการช่วยชาติยังดำเนินต่อและมอบเงินเข้าคลังหลวงครั้งที่ 16 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย เป็นทองคำแท่ง 73.64 แท่ง น้ำหนัก 920.5 กิโลกรัม ดังนั้น จึงมีทองคำแท่งบริจาคเข้าคลังหลวงรวม 1,040 แท่ง น้ำหนัก 13,000.05 กิโลกรัม เป็นเงิน 19,188,413,280 บาท และเมื่อรวมกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่นำเข้าคลังหลวงแล้ว 10,214,600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 306,965,073.36 บาท จะมีมูลค่า 19,495,378,353 บาท

หลวงตามหาบัว มอบทองคำเข้าคลังหลวง ครั้งที่ 12 
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร กทม วัน: 12 เม.ย. 2547



สมณศักดิ์
13 ธันวาคม พ.ศ. 2511 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูญาณวิสุทธาจารย์
5 ธันวาคม พ.ศ. 2536 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชญาณวิสุทธิโสภณ สมถวิปัสสนาวิมลอนุสิฐ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม อรัณยวาสี
5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวิสุทธิมงคล สมถวิปัสสนาโกศลธรรมธารี อรรถภาณีสรรพกิจ โสภิตเสฏฐคุณาภรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม อรัญญวาสี




ปริญญากิตติมศักดิ์
ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง


ผลงานหนังสือ
ท่านมีผลงานการประพันธ์ที่รวบรวมเป็นหนังสือหลายเล่ม โดยเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับอัตชีวประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เช่น ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, ปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ หนังสือเกี่ยวกับธรรมะขั้นพื้นฐานสำหรับผู้เริ่มต้นปฏิบัติ อาทิ ศาสนธรรมปลุกคนให้ตื่น, แว่นส่องธรรม, ธัมมะในลิขิต หนังสือเกี่ยวกับธรรมะขั้นสูงสำหรับผู้ฝึกจิตตภาวนาเพื่อมรรคผลนิพพานโดยเฉพาะ อาทิ ก้าวเดินตามหลักศาสนธรรม, รากแก้วของศาสนา, แสวงโลก แสวงธรรม นอกจากนี้ ยังมีหนังสือทั่วไปอีก เช่น รักชาติไทย ส่งเสริมสินค้าไทย, พระพุทธศาสนารักษาชาติไทย และพระมหากษัตริย์คือหัวใจของชาติไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่แต่งหนังสือชีวประวัติของท่าน อาทิ หยดน้ำบนใบบัว จัดทำขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเรียบเรียงจากเทศนาธรรมของพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน)ในวาระต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนแก่สถานศึกษาทุกระดับชั้น[30], ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์ จัดทำขึ้นโดยวัดป่าบ้านตาด ซึ่งเป็นหนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงถวายแด่พระสรีระสังขารพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)

ความขัดแย้งทางการเมือง

ในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2548 หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน ได้ตีพิมพ์การเทศนาของพระธรรมวิสุทธิมงคล ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์พันตำรวจโททักษิณ อย่างหนัก และมีเนื้อหาส่วนหนึ่งได้กล่าวถึงพันตำรวจโททักษิณว่ามีการใช้อำนาจ "...มุ่งหน้าต่อประธานาธิบดีชัดเจนแล้วเดี๋ยวนี้ พระมหากษัตริย์เหยียบลง ศาสนาเหยียบลง ชาติเหยียบลง..."
ทำให้เกิดหัวข้อโต้เถียงกันเป็นวงกว้าง ต่อมา พันตำรวจโททักษิณได้ฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ เป็นเงินกว่า 500 ล้านบาท แต่ไม่ได้ฟ้องร้องพระธรรมวิสุทธิมงคล

และเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549 พระธรรมวิสุทธิมงคลได้แนะนำให้พันตำรวจโททักษิณ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และในการเทศนา ท่านได้อธิบายถึงรัฐบาลว่า "เลวทราม ฉ้อราษฎร์บังหลวง กระหายอำนาจและโลภ"

หลวงตามหาบัว...จะเตือน(ทักษิณ)เป็นครั้งสุดท้าย (17 พ.ค.49) [ฉบับเต็มไม่มีตัด]


พระลูกศิษย์
- หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ วัดป่าบ้านนาคูณ ต.บ้านผือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดเกษรศิลคุณธรรมเจดีย์ (วัดภูผาแดง) ต.หนองอ้อ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
- หลวงปู่คำตัน ฐิตธัมโม วัดป่าดานศรีสำราญ อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ
- หลวงปู่เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
- พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล ต.บ้านชุม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
- หลวงปู่ผาง ปริปุณฺโณ วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น ต.ดงเย็น อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี
- หลวงปู่ปัญญา ปัญญาวัฑโฒ วัดป่าบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
- พระครูสันติวีรญาณ (ฟัก สนฺติธมฺโม) วัดพิชัยพัฒนาราม (เขาน้อยสามผาน) ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
- หลวงปูจันทร์เรียน คุณวโร วัดถ้ำสหาย อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
- พระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก วัดป่านาคำน้อย อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี
- พระอาจารย์สุดใจ ทนฺตมโน วัดป่าบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
- พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
- พระวิสุทธิสารเถร (ภูสิต ขันติธร) วัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน หมู่ 5 บ้านพุไม้แดง ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
- พระอาจารย์วันชัย วิจิตโต วัดป่าภูสังโฆ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
- เป็นต้น

ประวัติพระอรหันต์ประเทศไทย สาย ธรรมยุต

ชีวประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร 

เรียบเรียงโดย
พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)




เพลงประวัติหลวงปู่มั่น (ขับร้อง : เพลิน พรมแดน)

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ อาจารย์สอนธรรมทางวิปัสสนา มีศิษยานุศิษย์มาก มีคนเคารพนับถือมาก มีชีวประวัติควรเป็นทิฏฐานุคติแก่กุลบุตรได้ผู้หนึ่ง ดังจะเล่าต่อไปนี้

ชาติสกุล

ท่านกำเนิดในสกุล แก่นแก้ว นายคำด้วง เป็นบิดา นางจันทร์ เป็นมารดา เพียพระยา๑แก่นท้าวเป็นปู่ ชาติไทย นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม๒ จังหวัดอุบลราชธานีมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๙ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี บุตร ๖ คนตายเสียแต่เล็ก ยังเหลือน้องสาว ๒ คน คนสุดท้องชื่อ หวัน จำปาศิลป


รูปร่างลักษณะและนิสัย

ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวขาวแดง แข็งแรง ว่องไว สติปัญญาดีมาแต่กำเนิด ฉลาด เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายในทางที่ถูก ไม่ยอมทำตามในทางที่ผิด

การศึกษาสามัญ

ท่านได้เรียนอักขรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรมและอักษรขอม อ่านออกเขียนได้ นัยว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะมีความทรงจำดีและมีความขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียนศึกษา

การบรรพชา

มื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่าง ๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปรานีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเล่าเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่ออายุท่านได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน ท่านก็ได้ลาสิกขาออกไปช่วยการงานของบิดามารดาเต็มความสามารถ

ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่ลืมเลย คงเป็นเพราะมีอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก” คำสั่งของยายนี้คอยสะกิดใจอยู่เสมอ





สุบินนิมิต


พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร   ท่านเล่าว่าเมื่อกำลังศึกษากัมมัฏฐานภาวนาใน สำนักท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี นั้น ชั้นแรกยังใช้บริกรรมภาวนาว่า พุทโธ ๆ อยู่

อยู่มาวันหนึ่ง จะเป็นเวลาเที่ยงคืนหรือ อย่างไรไม่แน่ บังเกิดสุบินนิมิตว่า ได้เดินออกจาก หมู่บ้านด้านหนึ่ง มีป่า เลยป่าออกไปก็ถึงทุ่งเวิ้งว้าง กว้างขวาง จึงเดินตามทุ่งไป ได้เห็นต้นชาติต้นหนึ่ง ที่บุคคลตัดให้ล้มลงแล้ว ปราศจากใบ ตอของต้นชาติสูงประมาณ ๑ คืบ ใหญ่ประมาณ ๑ อ้อม ท่านขึ้นสู่ขอนชาตินั้น พิจารณาดูอยู่ รู้ว่าผุพังไปบ้างและจักไม่งอกขึ้นได้อีก ในขณะที่กำลังพิจารณาอยู่นั้น มีม้าตัวหนึ่ง ไม่ทราบว่ามาจากไหน มาเทียมขอนชาติ ท่านจึงขึ้นขี่ม้าตัวนั้น ม้าพาวิ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเต็มฝีเท้า ขณะที่ถ้าพาวิ่งไปนั้น ได้แลเห็นตู้ใบหนึ่ง เหมือนตู้พระไตรปิฎก ตั้งอยู่ข้างหน้า ผู้นั้นวิจิตรด้วยเงินสีขาวเลื่อมเป็นประกายผ่องใสยิ่งนัก ม้าพาวิ่งเข้าไปสู่ตู้นั้น ครั้นถึงม้าก็หยุดและหายไป ท่านลงจากหลังม้าตรงตู้พระไตรปิฎกนั้น แต่มิได้เปิดตู้ดู ไม่ทราบว่ามีอะไรอยู่ในนั้น แลดูไปข้างหน้า เห็นเป็นป่าชัฏ เต็มไปด้วยขวากหนามต่างๆ จะไปต่อไปไม่ได้ เลยรู้สึกตัวตื่นขึ้น

สุบินนิมิตนี้เป็นบุพพนิมิตบอกความมั่นใจในการทำความเพียรของท่าน ท่านจึงตั้งหน้าทำความเพียรประโยคพยายามมิได้ท้อถอย มีการเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ก็มิได้ทอดทิ้ง คงดำเนินตามข้อปฏิบัติอันท่านโบราณบัณฑิตทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงบำเพ็ญตามทางแห่งอริยมรรค

ครั้นต่อมาท่านจึงหวนไปพิจารณาสุบินนิมิตนั้น จึงได้ความว่า การที่ท่านออกมาบวชในพระพุทธศาสนาและปฏิบัติตามอริยมรรคนั้น ชื่อว่าออกจากบ้าน บ้านนั้นคือความผิดทั้งหลาย และป่านั้นคือกิเลส ซึ่งเป็นความผิดเหมือนกัน อันความที่บรรลุถึงทุ่งอันเวิ้งว้างนั้น คือละความผิดทั้งหลาย ประกอบแต่ความดีความงาม ขอนชาติได้แก่ชาติความเกิด ม้าได้แก่ตัวปัญญาวิปัสสนา จักมาแก้ความผิด การขึ้นสู่ม้าแล้วถ้าพาวิ่งไปสู่ตู้พระไตรปิฎกนั้นคือ เมื่อพิจารณาไปแล้ว จักสำเร็จเป็นปฏิสัมภิทานุสาสน์ ฉลาดรู้อะไรๆ ในเทศนาวิธีทรมานแนะนำสั่งสอนสานุศิษย์ทั้งหลายให้ได้รับความเห็นใจและเข้าใจในข้อปฏิบัติทางจิต แต่จะไม่ได้ในจตุปฏิสัมภิทาญาณเพราะไม่ได้เปิดดูตู้นั้น ส่วนข้างหน้ามันเต็มไปด้วยขวากหนามนั้นได้ความว่า เมื่อพิจารณาเกินไปจากมรรค จากสัจจะ ก็คือความผิดนั้นเอง เมื่อพิจารณาได้ความเท่านี้แล้ว ก็ถอยจิตคืนมาหาตัว พิจารณากาย เป็นกายคตาสติภาวนาต่อไป

สมาธินิมิต


ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านเจริญกัมมัฏฐานภาวนาอยู่วัดเลียบ เมืองอุบลนั้น ในชั้นแรกยังบริกรรมภาวนาว่า พุทโธๆ อยู่

วาระแรก มีอุคคหนิมิต คือเมื่อจิตร่วมลง ได้ปรากฏรูปอสุภะภายนอกก่อน คือเห็นคนตายอยู่ข้างหน้า ห่างจากที่นั่งประมาณ ๑ วา ผินหน้ามาทางท่าน มีสุนัขตัวหนึ่งมาดึงเอาไส้ออกไปกินอยู่ เมื่อเห็นดังนั้น ท่านก็มิได้ท้อถอย คงกำหนดนิมิตนั้นให้มาก ออกจากที่นั่งแล้วจะนอนอยู่ก็ดี จงกรมก็ดี เดินไปมาอยู่ก็ดี ก็ให้ปรากฏนิมิตอยู่อย่างนั้น ครั้นนานวันมาก็ขยายให้ใหญ่ ขยายให้เน่าเปื่อยผุพัง เป็นจุณวิจุณไป กำหนดให้มาก ให้มีทั้งตายเก่าและตายใหม่ จนกระทั่งเต็มหมดทั้งวัดวา มีแร้งกาหมายื้อแย่งกันกินอยู่ ท่านก็ทำอยู่อย่างนั้น จนอสุภะนั้นได้กลับกลายเป็นวงแก้ว

วาระที่ ๒ เมื่อร่างอสุภะทั้งหมดได้กลับกลายมาเป็นวงแก้วแล้ว จึงเพิ่งอยู่ในวงแก้วอันขาวเลื่อม ใสสะอาด คล้ายวงกสิณสีขาว ท่านก็เพ่งพินิจพิจารณาอยู่ในวงนั้นเรื่อยไป

วาระที่ ๓ เมื่อกำหนดพิจารณาต่อไป จึงแลไปเห็นอะไรอย่างหนึ่งคล้ายภูเขา อยู่ข้างหน้า จึงนึกขึ้นในขณะนั้นว่าอยากไปดู บางทีจะเป็นหนทางข้อปฏิบัติกระมัง? จึงได้เดินไปดู ปรากฏว่าภูเขานั้นเป็นพักอยู่ ๕ พัก จึงก้าวขึ้นไปถึงพักที่ ๕ แล้วหยุด แล้วกลับคืน ขณะที่เดินไปนั้น ปรากฏว่าตัวท่านสะพายดาบอันคมกล้าเล่มหนึ่ง และที่เท้ามีรองเท้าสวมอยู่ ในคืนต่อมาก็เป็นไปอย่างนั้นอีก และปรากฏนิมิตคืบหน้าต่อไปเป็นกำแพงขวางหน้าอยู่ ที่กำแพงมีประตู จึงอยากเข้าไปดูว่าข้างในมีอะไรอีก จึงเอามือผลักประตูเข้าไป ปรากฏว่ามีทางสายหนึ่งตรงไป ท่านจึงเดินตามทางนั้นไป ข้างทางขวามือเห็นมีที่นั่งและที่อยู่ของพระภิกษุ ๒-๓ รูปกำลังนั่งสมาธิอยู่ ที่อยู่ของพระภิกษุนั้นคล้ายประทุนเกวียน ท่านมิได้เอาใจใส่ คงเดินต่อไป ข้างทางทั้งสองข้างมีถ้ำมีเงื้อมผาอยู่มาก ได้เห็นดาบสตนหนึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ท่านก็มิได้เอาใจใส่อีก ครั้นเดินต่อไปก็ถึงหน้าผาสูงมาก จะไปอีกก็ไปไม่ได้ จึงหยุดเพียงนั้น แล้วกลับออกมาทางเก่า

คืนต่อมาก็ไปอีกอย่างเก่า ครั้นไปถึงหน้าผาแห่งนั้น จึงปรากฏยนตร์คล้ายอู่ มีสายหย่อนลงมาแต่หน้าผา ท่านจึงขึ้นสู่อู่ พอนั่งเรียบร้อย อู่ก็ชักขึ้นไปบนภูเขาลูกนั้น ครั้นขึ้นไปแล้วจึงเห็นสำเภาใหญ่ลำหนึ่งอยู่บนภูเขาลูกนั้น ขึ้นไปดูในสำเภาเห็นโต๊ะสี่เหลี่ยม บนโต๊ะมีผ้าปู เป็นผ้าสีเขียวเนื้อละเอียดมาก มองดูทั้ง ๔ ทิศ มีดวงประทีปติดสว่างรุ่งโรจน์อยู่ ประทีบนั้นคล้ายติดด้วยน้ำมัน ปรากฏว่าตัวท่านขึ้นนั่งบนโต๊ะนั้น และปรากฏว่าได้ฉันจึงหันที่นั้นด้วย เครื่องจังหันมีแตงกับอะไรอีกหลายอย่าง ครั้นฉันจึงหันเสร็จแล้ว มองไปข้างหน้าปรากฏเห็นเป็นฝั่งโน้นไกลมาก จะไปก็ไปไม่ได้เพราะมีเหวลึก ไม่มีสะพานข้ามไป จึงกลับคืนมาเหมือนอย่างเก่า

วาระที่ ๔ ก็เพ่งไปน้อมจิตไปอย่างเก่านั่นแล ครั้นไปถึงสำเภาแห่งนั้น จึงปรากฏเห็นมีสะพานน้อย ๆ ข้ามไปยังฝังโน้นจึงเดินไป พอไปถึงฝั่งโน้นแล้วก็ปรากฏเห็นกำแพงใหญ่มาก สูงมาก ประกอบด้วยค่ายคูประตูและหอรบอันมั่นคง ที่หน้ากำแพงมีถนนใหญ่ไปทางทิศใต้และทิศเหนือ นึกอยากเข้าไปมาก จึงเดินไปผลักประตู ประตูไม่เปิดจึงกลับคืนมา

วาระที่ ๕ ทำอย่างเก่าอีก ปรากฏไปอย่างเก่า สะพานจากสำเภาใหญ่ไปยังฝั่งโน้นปรากฏว่าใหญ่กว่าเก่ามาก ครั้นเดินตามสะพานนั้นไปได้ครึ่งสะพาน ปรากฏเห็นท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) เดินสวนมา และกล่าวว่า “อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค” แล้วต่างก็เดินต่อไป

พอไปถึงประตูก็แลเห็นประตูเล็กอีกประตูหนึ่ง จึงเดินไปผลักประตูเล็กนั้นออกได้ แล้วไปเปิดประตูใหญ่ได้ เข้าไปข้างในกำแพงปรากฏมีเสาธงทองตั้งอยู่ท่ามกลางเวียงนั้นสูงตระหง่าน ต่อไปข้างหน้าปรากฏมีถนน เป็นถนนดี สะอาด เตียนราบ มีเครื่องมุง มีประทีปโคมไฟติดเป็นดวงไป ตามเพดานหลังคาถนน มองไปข้างหน้าเห็นมีโบสถ์หลังหนึ่งตั้งอยู่ จึงเดินเข้าไปในโบสถ์ ภายในโบสถ์มีทางจงกรม ที่สุดทางจงกรมทั้งสองข้างมีดวงประทีปตามสว่างรุ่งโรจน์ นึกอยากเดินจงกรม จึงได้เดินจงกรมไป ๆ มา ๆ อยู่ และต่อมาปรากฏมีธรรมาสน์อันหนึ่งวิจิตรด้วยเงิน จึงขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์นั้น บนธรรมาสน์มีบาตรลูกหนึ่ง เปิดดูในบาตรมีมีดโกนเล่มหนึ่ง พอมาถึงตรงนี้ก็อยู่ ไม่ปรากฏอะไรต่อไปอีก

วันต่อมาก็เข้าไปถึงตรงนี้อีกทุก ๆ วัน ทุกครั้งที่เข้าไปก็ปรากฏว่าในตัวท่านมีดาบสะพายอยู่เล่มหนึ่ง กับมีรองเท้าสวมอยู่ด้วย ปรากฏเป็นอย่างนี้อยู่ ๓ เดือน

ครั้นต่อมาเมื่อออกจากที่แล้ว (คือจิตถอนออกจากสมาธิ) เห็นอารมณ์ภายนอกก็ยังกระทบกระทั่งอยู่ร่ำไป สวยก็เกิดรัก ไม่ดีก็ชัง เป็นอยู่อย่างนี้ ท่านจึงพิจารณาว่า การที่เราพิจารณาอย่างนี้ มันยังเป็นนอกอยู่ ไม่หยุดอยู่กับที่ และครั้นกระทบอารมณ์ก็ยังหวั่นไหวอยู่นี้เห็นจะไม่ใช่ทางเสียแล้วกระมัง ?

เมื่อพิจารณาได้ความอย่างนี้ จึงเริ่มแก้ด้วยอุบายวิธีใหม่

จึงตั้งต้น พิจารณากายนี้ทวนขึ้นและตามลงไป อุทธํ อโธ ติริยญฺจาปิ มชฺเฌ เบื้องบนแต่ปลายเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป และด้านขวางสถานกลางโดยรอบ ด้วยการจงกรม เวลาจะนอนก็นอนเสีย ไม่นั่งให้มันรวมเหมือนอย่างเก่า ใช้อุบายนี้ทำประโยคพยายามพากเพียรอยู่โดยมิท้อถอย

ตลอด ๓ วันล่วงแล้วจึงนั่งพิจารณาอีก ทีนี้จิตจึงรวมลง และปรากฏว่ากายนี้ได้แตกออกเป็นสองภาค พร้อมกับรู้ขึ้นในขณะนั้นว่า

“เออ ที่นี้ถูกแล้วละ เพราะจิตไม่น้อมไปและมีสติรู้อยู่กับที่”

นี้เป็นอุบายอันถูกต้องครั้งแรก ตั้งแต่นั้นมาก็พิจารณาอยู่อย่างนั้น



ครั้นออกพรรษา ตกฤดูแล้งก็ออกเที่ยวจาริกแสวงหาวิเวกไปอยู่ที่สงัด ปราศจากคนพลุกพล่านตามหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านพออาศัยภิกขาจารวัตร ตามเยี่ยงอย่างพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกเจ้าที่ดำเนินมาก่อนแล้วทั้งหลาย ไปทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง

ในคราวไปวิเวกถิ่นนครพนม ได้เจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ (พนฺธุโล จูม) กับเจ้าคุณพระสารภาณมุนี (จันทร์) (ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) วัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ) ไปเป็นศิษย์ศึกษาเล่าเรียน ทั้งทางสมถวิปัสสนา ทั้งทางปริยัติธรรม ณ เมืองอุบลก่อน แล้วลงไปศึกษาเล่าเรียนทางกรุงเทพพระมหานคร จนได้กลับมาทำประโยชน์ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ในภาคอีสานปัจจุบันนี้

ส่วนท่านอาจารย์ เมื่ออายุพรรษาพอสมควรแล้ว จึงได้ลงไปศึกษาทางกรุงเทพพระมหานคร อันเป็นแหล่งนักปราชญ์ สำนักที่วัดปทุมวัน (วัดปทุมวนาราม) หมั่นไปสดับพระธรรมเทศนาอบรมปัญญากับเจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) ที่วัดบรมนิวาส
ในคราวไปวิเวกถิ่นนครพนม ได้เจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ (พนฺธุโล จูม) กับเจ้าคุณพระสารภาณมุนี (จันทร์) (ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) วัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ) ไปเป็นศิษย์ศึกษาเล่าเรียน ทั้งทางสมถวิปัสสนา ทั้งทางปริยัติธรรม ณ เมืองอุบลก่อน แล้วลงไปศึกษาเล่าเรียนทางกรุงเทพพระมหานคร จนได้กลับมาทำประโยชน์ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ในภาคอีสานปัจจุบันนี้

ส่วนท่านอาจารย์ เมื่ออายุพรรษาพอสมควรแล้ว จึงได้ลงไปศึกษาทางกรุงเทพพระมหานคร อันเป็นแหล่งนักปราชญ์ สำนักที่วัดปทุมวัน (วัดปทุมวนาราม) หมั่นไปสดับพระธรรมเทศนาอบรมปัญญากับเจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) ที่วัดบรมนิวาส
ครั้นพรรษาได้ ๒๓ จึงกลับมาหาหมู่คณะทางภาคอีสาน มีพระเณรมาศึกษาด้วยมากขึ้นโดยลำดับ มี พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นต้น จนพรรษาได้ ๓๘ จึงได้จากหมู่คณะ ไปจำพรรษาวัดปทุมวัน กรุงเทพฯ แล้วเลยไปเชียงใหม่กับเจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺทเถร จันทร์) พักวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วไปวิเวกตามที่ต่าง ๆ บ้าง กลับมาจำพรรษาวัดเจดีย์หลวงบ้าง รวมเวลา ๑๑ ปี จึงได้กลับมาภาคอีสาน เพื่อสงเคราะห์สาธุชน ตามคำนิมนต์ของเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ จน ถึงปัจฉิมสมัย


ปฏิปทา

เมื่อแรกอุปสมบท ท่านพำนักอยู่วัดเลียบ เมืองอุบล เป็นปกติ ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพา เมืองอุบล บ้างเป็นบางคราว ในระหว่างนั้น ได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้นอันเป็นส่วนแห่งพระวินัย คือ อาจาระ ความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร และ อุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรียบร้อยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌายาจารย์ และศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกรม นั่งสมาธิ กับสมาทานธุดงควัตรต่าง ๆ

ในสมัยต่อมา ได้แสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏที่แจ้ง หุบเขา ซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้างทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ทางกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวัน หมั่นไปสดับธรรมเทศนากับเจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม และถ้ำสิงห์โต ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสานทำการอบรมสั่งสอนสมถวิปัสสนาแก่สหธรรมมิก และอุบาสก อุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสพอใจปฏิบัติตามมากขึ้นโดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายกระจายทั่วภาคอีสาน

ในกาลต่อมาได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวัน กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับเจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง ๑๑ ปีจึงได้กลับมาจังหวัดอุดรธานี ตามคำอาราธนาของเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ พักจำพรรษาอยู่ที่วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา

แล้วมาอยู่เขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองสกลนคร ๓ พรรษา จำพรรษาที่วัดป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม ๕ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติได้ติดตามมาศึกษาอบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่านได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่านให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป

ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ

๑. ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบกระทั่งถึงวัยชรา จึงได้ผ่อนใช้คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย

๒. ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารวัตรเที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัย จึงงดบิณฑบาต

๓. เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยจึงงด

๔. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ตลอดมา แม้ถึงอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยก็มิได้เลิกละ

ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มากก็คือ อรัญญิกังคธุดงค์ ถืออยู่เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณวิสัย เมื่อถึงวัยชราจึงอยู่ในเสนาสนะป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะภิกขาจารบิณฑบาต เป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนเคารพยำเกรงไม่รบกวน

นัยว่า ในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยวแสวงวิเวกไปในป่าดงพงลึก จนสุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่น ในคราวไปอยู่ทางภาคเหนือ เป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูงอันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอ ยังพวกมูเซอซึ่งพูดไม่รู้เรื่องกันให้บังเกิดศรัทธาในพระศาสนาได้



                              หลวงตามหาบัวฯเทศน์เกี่ยวกับหลวงปู่มั่น

กิจวัตรประจำวัน

ท่านปฏิบัติกิจประจำวันเป็นอาจิณวัตรเพื่อเป็นแบบอย่างแก่สานุศิษย์ และพร่ำสอนสานุศิษย์ให้ปฏิบัติเป็นอาจิณวัตรต่อไปนี้
- เวลาเช้า ออกจากกุฏิ ทำสรีรกิจ คือ ล้างหน้า บ้วนปาก นำบริขารลงสู่โรงฉัน ปัดกวาดลานวัด แล้วเดินจงกรม

- พอได้เวลาภิกขาจารก็ขึ้นสู่โรงฉัน นุ่งห่มเป็นปริมณฑล สะพายบาตรเข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต

- กลับจากบิณฑบาตแล้ว จัดแจงบาตร จีวร แล้วจัดอาหารใส่บาตร นั่งพิจารณาอาหาร ปัจจเวกขณะ ทำภัตตานุโมทนาคือยถาสัพพีเสร็จแล้ว ฉันจังหัน ฉันเสร็จแล้วล้างบาตร เก็บบริขารขึ้นกุฏิ

- ทำสรีรกิจ พักผ่อนเล็กน้อย แล้วลุกขึ้นล้างหน้า ไหว้พระ สวดมนต์ และพิจารณาธาตุอาหาร ปฏิกูล ตังขณิก อตีตปัจจเวกขณะ แล้วชำระจิตจากนิวรณ์ นั่งสมาธิพอสมควร

- เวลาบ่าย ๓-๔ โมง กวาดลานวัด ตักน้ำใช้ น้ำฉันมาไว้ อาบน้ำชำระกายให้สะอาดปราศจากมลทิน แล้วเดินจงกรมจนถึงพลบค่ำจึงขึ้นกุฏิ

- เวลากลางคืนตั้งแต่พลบค่ำไป สานุศิษย์ก็ทยอยกันขึ้นไปปรนนิบัติ ท่านได้เทศนาสั่งสอนอบรมสติปัญญาแก่สานุศิษย์พอสมควรแล้ว สานุศิษย์ถวายการนวดฟั้น (เฟ้น) พอสมควรแล้ว ท่านก็เข้าห้อง ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ แล้วพักนอนประมาณ ๔ ทุ่ม เวลา ๓.๐๐ น. ตื่นนอน ล้างหน้าบ้วนปาก แล้วปฏิบัติกิจอย่างในเวลาเช้าต่อไป

กิจบางประการ เมื่อมีลูกศิษย์มากและแก่ชราแล้ว ก็อาศัยศิษย์เป็นผู้ทำแทน เช่น การตักน้ำใช้ น้ำฉัน เพราะเหน็ดเหนื่อยเนื่องจากชราภาพ ส่วนกิจอันใดเป็นสมณประเพณีและเป็นศีลวัตร กิจนั้นท่านปฏิบัติเสมอเป็นอาจิณ มิได้เลิกละ

ท่านถือคติว่า “เมื่อมีวัตรก็ชื่อว่ามีศีล ศีลเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ”

ท่านกล่าวว่า “ต้นดี ปลายก็ดี ครั้นผิดมาแต่ต้น ปลายก็ไม่ดี”

ท่านกล่าวว่า “ผิดมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าบ่มี”อุปมารูปเปรียบเหมือนอย่างว่า “การทำนา เมื่อบำรุงรักษาลำต้นข้าวดีแล้ว ย่อมหวังได้แน่ซึ่งผลดังนี้”ท่านจึงเอาใจใส่ ตักเตือนสานุศิษย์ให้ปฏิบัติศีลวัตรอันเป็นส่วนเบื้องต้นให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ไว้เสมอ

บำบัดอาพาธด้วยธรรมโอสถ

มื่อคราวท่านลงไปจำพรรษาที่วัดปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ก่อนไปเชียงใหม่ ข้าพเจ้าท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ผู้เรียงประวัตินี้ พึ่งได้อุปสมบทใหม่ ๆ กำลังสนใจศึกษาทางสมถวิปัสสนา ได้ทราบกิตติศัพท์ของท่านว่าเป็นผู้ปฏิบัติเซี่ยวชาญทางสมถวิปัสสนา จึงเข้าไปศึกษาสดับฟังธรรมเทศนาของท่าน ได้ความเชื่อความเลื่อมใส ถวายตัวเป็นศิษย์ของท่านแล้ว ท่านเล่าเรื่องวิธีระงับอาพาธด้วยธรรมโอสถให้ฟังว่า

เมื่อคราวท่านไปจำพรรษาที่ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก นั้น เกิดอาพาธ ธาตุกำเริบ ไม่ทำการย่อยอาหารที่บริโภคเข้าไป ถ่ายออกมาก็เป็นเหมือนเมื่อแรกบริโภค

ชั้นแรกได้พยายามรักษาด้วยยาธรรมดาจนสุดความสามารถ อาพาธก็ไม่ระงับ

จึงวันหนึ่ง ขณะที่ไปแสวงหายารากไม้เพื่อมาบำบัดอาพาธนั้น ได้ความเหน็ดเหนื่อยมากเพราะยังมิได้ฉันจังหัน ครั้นได้ยาพอและกลับมาถึงถ้ำที่พักแล้ว บังเกิดความคิดขึ้นว่า เราพยายามรักษาด้วยยาธรรมดามาก็นานแล้ว อาพาธก็ไม่ระงับ เราจะพยายามรักษาด้วยยาธรรมดาต่อไปก็คงไร้ผลเหมือนแต่ก่อน บัดนี้ อาพาธก็กำเริบยิ่งขึ้น ควรระงับด้วยธรรมโอสถดูบ้าง หากไม่หาย ก็ให้มันตายด้วยการประพฤติธรรมดีกว่า

ครั้นแล้วก็เข้าที่ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติสัมปชัญญะ กำหนดพิจารณา กายคตาสติกัมมัฏฐาน ไม่นานก็ได้ความสงบจิต อาพาธก็ระงับหายวันหายคืนโดยลำดับ จนร่างกายแข็งแรงดังเก่าจึงย้ายไปทำความเพียรอยู่ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงามและถ้ำสิงห์โต ลพบุรี จนได้ความแกล้วกล้าอาจหาญในพระธรรมวินัยดังเล่ามาแล้ว

อีกครั้งหนึ่ง เมื่อท่านอาศัยอยู่ห้วยน้ำกึง อันเป็นอรัญญสุขวิหารราวป่าชัฏ ก่อนจะไปอยู่ที่นั้น ท่านได้พิจารณาธาตุขันธ์ได้ความว่า อาพาธจะกำเริบ และจะระงับได้ในสถานที่นั้น จึงได้หลีกจากหมู่คณะไปอยู่องค์เดียวในสถานที่นั้น พอตกกลางคืน อาพาธอันเป็นโรคประจำตัวมาแต่ยังเด็กก็กำเริบ คือปวดท้องอย่างแรง นั่งนอนไม่เป็นสุขทั้งนั้น จึงเร่งรัดพิจารณาวิปัสสนา ประมาณ ๑ ชั่วโมงอาพาธก็สงบ ปรากฏว่าร่างกายนี้ละลายพึ่บลงสู่ดินเลย จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “นาญฺญตฺร โพชฺฌา ตปสา นาญฺญตฺร ปฏินิสฺสคฺคา” พิจารณาได้ความว่า “ธรรมอื่นเว้นโพชฌงค์เสียแล้วจะเป็นเครื่องแผดเผามิได้มี” ดังนี้

อีกครั้งหนึ่ง เมื่อท่านอาพาธเป็นไข้มาเลเรียขึ้นสมอง เจ้าคุณพระเทพโมลี (ธมฺมธโร พิมพ์) อาราธนามารักษาที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ท่านก็ยินยอมให้รักษาดู ท่านเจ้าคุณจึงไปเชิญหมอแผนปัจจุบันมารักษา ฉีดหยูกยาต่าง ๆ จนสุดความสามารถของหมอ วันหนึ่ง หมอกระซิบบอกท่านเจ้าคุณว่า “หมดความสามารถแล้ว”

พอหมอไปแล้ว ท่านพระอาจารย์จึงนิมนต์เจ้าคุณพระเทพโมลีไปถามว่า “หมอว่าอย่างไร? ”

ท่านเจ้าคุณก็เรียนให้ทราบตามตรง

ท่านพระอาจารย์จึงบอกว่า “ไม่ตายดอกอย่าตกใจ”
ล้วจึงบอกความประสงค์ให้ทราบว่า ท่านได้พิจารณาแล้วรู้ว่า อาพาธครั้งนี้จะระงับได้ด้วยธรรมโอสถ ณ สถานที่แห่งหนึ่งคือป่าเปอะ อันเป็นสถานที่วิเวก ใกล้นครเชียงใหม่ ท่านจะไปพักที่นั่น เจ้าคุณพระเทพโมลีก็อำนวยตามความประสงค์

ท่านไปพักทำการเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐาน เป็นอนุโลม ปฏิโลม เพ่งแผดเผาภายในอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนไม่นานอาพาธก็สงบ จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “ฌายี ตปติ อาทิจฺโจ” พิจารณาได้ความว่า “ฌานแผดเผาเหมือนดวงอาทิตย์ฉะนั้น”

 อีกครั้งหนึ่ง เมื่อจากนครเชียงใหม่มาสู่อุดรธานี ตามคำนิมนต์ของเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ พักที่วัดโนนนิเวศน์ ๒ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชน ณ ถิ่นนั้น แล้วมาสกลนครตามคำนิมนต์ของนางนุ่ม ชุวานนท์ พักที่วัดป่าสุทธาวาส เพื่อสงเคราะห์สาธุชนพอสมควรแล้ว เลยออกไปพักที่เสนาสนะป่าบ้านนามนและบ้านนาสีนวลบ้าง ในคราวไปพักที่เสนาสนะป่าบ้านนาสีนวลนั้น อาพาธกำเริบ เป็นไข้และปวดท้อง ได้พิจารณาตามโพชฌงค์มิท้อถอย เมื่อพิจารณาโพชฌงค์พอแล้วได้อยู่ด้วยความสงบ ไม่นานอาพาธก็สงบ จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “ฌายี ตปติ อาทิจฺโจ” พิจารณาได้ความเหมือนหนหลัง

คราวที่พักอยู่เสนาสนะป่าบ้านห้วยแคน อาพาธกำเริบอีก ได้พยายามระงับด้วยธรรมโอสถ โดยพิจารณามรรค ๘ กับธุดงค์ ๑๓ เมื่ออาพาธสงบแล้ว จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “อฏฺฐ เตรส” พิจารณาได้ความว่า “มรรค ๘ กับธุดงค์ ๑๓ ประชุมลงเป็นสามัคคีกัน” อาพาธครั้งนี้ ๗ วันจึงระงับ

คำเตือนสติศิษย์ผู้ออกแสวงหาวิเวก

เมื่อมีศิษย์รูปใดไปอำลาท่านเพื่อออกแสวงหาที่วิเวกบำเพ็ญสมณธรรม ท่านย่อมตักเตือนศิษย์รูปนั้น ให้ยึดเอาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นตัวอย่างเป็นแบบฉบับเสมอ แล้วเล่าเรื่องที่ท่านเคยเป็นมาแล้วให้ฟังว่า

เมื่อคราวแสวงหาวิเวกเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ทางภาคเหนือได้ออกวิเวกไปองค์เดียว ถูกโลกธรรมกระทบกระทั่งนานาประการ พิจารณาอยู่ ๓ วัน จึงได้ความว่า ต้องยกธง ๓ สี อุปมาด้วยธงแห่งสยามประเทศ แล้วมีพระบาลีซึ่งมิได้เคยสดับมาปรากฏขึ้นต่อไปว่า

“สุตาวโต จ โข ภิกฺขเว อสุตาวตา ปุถุชฺชเนนาปิ ตสฺสานุโรธา อถวา วิโรธาเวทุปิตา ตถาคตํ คจฺฉนฺติ ภควํ มูลกา โน ภนฺเต ภควา ภควํ เนตฺติกา ภควํ ปฏิสฺสรณา สาธุวต ภนฺเต ภควา เยว ปฏิภาตุ”

แล้วพิจารณาได้ความว่า

“ระหว่างพระอริยบุคคลผู้ได้สดับแล้วกับปุถุชนผู้มิได้สดับ ก็ย่อมถูกโลกธรรมกระทบกระทั่งเช่นเดียวกัน แม้พระตถาคตก็ได้ถูกโลกธรรมกระทบกระทั่งมาแล้วแสนสาหัสในคราวทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนั้น พระองค์มิได้ตรัสสอนให้เอาพระสาวกองค์นั้นองค์นี้เป็นตัวอย่าง ตรัสสอนให้เอาพระองค์เองเป็นตัวอย่าง เป็นเนติแบบฉบับ เป็นที่พึงเสมอด้วยชีวิต” ดังนี้

สำเร็จปฏิสัมภิทานุสาสน์

ตามประวัติเบื้องต้น ได้เล่าสุบินนิมิตของท่านและการพิจารณาสุบินนิมิตของท่าน ได้ความว่า ท่านจะสำเร็จปฏิสัมภิทานุสาสน์ ฉลาดรู้ในเทศนาวิธีและอุบายทรมาน แนะนำสั่งสอนสานุศิษย์ให้เข้าใจในพระธรรมวินัยและอุบายฝึกฝนจิตใจ แต่จะไม่ได้จตุปฏิสัมภิทาญาณ ดังนี้

คุณสมบัติส่วนนี้ ย่อมประจักษ์ชัดแก่ศิษย์ทั้งหลายสมจริงอย่างที่ท่านพยากรณ์ไว้ คือ ท่านฉลาดในเทศนาวิธี

ท่านเคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ท่านได้พยายามศึกษาสำเนียงวิธีเทศนา อันจะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ฟัง ได้ความขึ้นว่า

เทศนาวิธีต้องประกอบด้วย:-

๑. อุเทศ คือกำหนดอุเทศก่อนหัวข้อธรรมที่พึงยกขึ้นแสดง วิธีกำหนดอุเทศนั้นคือทำความสงบใจหน่อยหนึ่ง ธรรมใดอันเหมาะแก่จริงนิสัยของผู้ฟังซึ่งมาคอยฟังในขณะนั้น ธรรมนั้นจะผุดขึ้น ต้องเอาธรรมนั้นมาเป็น อุเทศ ถ้าเป็นภาษาไทยต้องแปลเป็นบาลีก่อน

๒. นิเทศ คือเนื้อความ เพื่ออธิบายความของอุเทศนั้นให้กว้างขวางออกไปตามสมควร เมื่อเนื้อความปรากฏขึ้นในขณะนั้นแจ่มแจ้งแก่ใจอย่างไรต้องแสดงอย่างนั้น

๓. ปฏินิเทศ คือใจความเพื่อย่อคำให้ผู้ฟังจำได้จะได้นำไปไตร่ตรองในภายหลังเทศนาวิธีของท่านพระอาจารย์ย่อมเป็นไปตามหลักดังกล่าวนี้ บาลีอุเทศที่ท่านยกขึ้นมาแสดงบางประการ ท่านไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก่อน ย่อมมาปรากฏขึ้นในเวลาแสดงธรรมนั้นเอง จึงสมกับคำว่าปฏิสัมภิทานุสาสน์แท้ เป็นการแสดงธรรมด้วยปฏิภาณญาณจริง ๆ จึงถูกกับจริตอัธยาศัยของผู้ฟัง ยังผู้ฟังให้เกิดความสว่างแจ่มใสเบิกบานใจและเกิดฉันทะในอันประพฤติปฏิบัติศีลธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป

สมด้วยคำชมของเจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) ว่า ท่านมั่น แสดงธรรมด้วย มุตโตทัย เป็น “มุตโตทัย” ดังนี้ ซึ่งข้าพเจ้าเอามาเป็นชื่อธรรมกถาของท่านพระอาจารย์ที่พิมพ์นี้ ส่วนจตุปฏิสัมภิทาญาณนั้น ท่านว่าท่านจะไม่ได้สำเร็จ เพราะมิได้เปิดดูในตู้พระไตรปิฎก เมื่อสังเกตดูเทศนาโวหารของท่านแล้วก็จะเห็นจริงดังคำพยากรณ์ของท่าน เพราะปฏิสัมภิทาญาณมี ๔ ประการ คือ

๑. ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ ปรีชาแตกฉานในธรรม คือ หัวข้อธรรม หรือหลักธรรม หรือเหตุปัจจัย

๒. อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ปรีชาแตกฉานในอรรถ คือ เนื้อความ หรือคำอธิบาย หรือผลประโยชน์

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปรีชาแตกฉานในภาษาที่ใช้พูดกันในหมู่ชน อันเป็นตันติภาษา โดยหลักก็คือ รู้ภาษาบาลีอันเป็นแม่ภาษา และภาษาของตนอันจะใช้อธิบายธรรมในหมู่ชนนั้น ๆ รูปคำสูงต่ำ หนักเบา และรู้ความหมายของคำนั้น ๆ ชัดแจ้ง ฉลาดในการเลือกคำพูดมาใช้ประกอบกันเข้าเป็นประโยค ให้ได้ความกะทัดรัดและไพเราะสละสลวย เป็นสำนวนชาวเมือง ไม่ระเคืองคายโสตของผู้ฟัง

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ปรีชาแตกฉานในการกล่าวธรรมด้วยปฏิภาณญาณ มีไหวพริบทันคนในการโต้ตอบปัญหา มีปรีชาผ่องแผ้ว แกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้ามในท่ามกลางบริษัท อาจปริวัติเทศนาไปตามจริตอัธยาศัย ด้วยเทศนานัยมีประการต่าง ๆ ได้ดี

ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ประการนี้ ต้องได้ครบบริบูรณ์ ๔ ประการ จึงจะเรียกว่า สำเร็จจตุปฏิสัมภิทาญาณ ถ้าได้แต่เพียงบางส่วนบางประการไม่เรียกว่าสำเร็จ แต่ถ้าได้ทั้ง ๔ ประการนั้น หากแต่ไม่บริบูรณ์ เป็นแต่เพียงอนุโลม ก็เรียกว่า จตุปฏิสัมภิทานุโลมญาณ ท่านพระอาจารย์น่าจะได้ในข้อหลังนี้ จึงฉลาดในเทศนาวิธีและอุบายวิธีแนะนำสั่งสอนสานุศิษย์ ดังกล่าวมาแล้ว

ไตรวิธญาณ

ท่านพระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า การกำหนดรู้อะไรต่าง ๆ เช่น จิต นิสัย วาสนา ของคนอื่นและเทวดา เป็นต้น ย่อมรู้ได้ด้วยอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ :-

๑. เอกวิธัญญา กำหนดพิจารณากายนี้อันปรากฏชัด จิตวางอุคคหนิมิต รวมลงถึงฐีติจิต คือ จิตดวงเดิม พักอยู่พอประมาณ จิตถอยออกมาพักเพียงอุปจาระ ก็ทราบได้ว่าเหตุนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

๒. ทุวิธัญญา กำหนดพิจารณาเหมือนข้อ ๑ พอจิตถอยออกมาถึงอุปจาระ จะปรากฏนิมิตภาพเหตุการณ์นั้น ๆ ขึ้น ต้องวางนิมิตนั้นเข้าจิตอีกครั้งหนึ่ง ครั้นถอยออกมาอีก ก็ทราบเหตุการณ์นั้น ๆ ได้

๓. ติวิธัญญา ปฏิบัติเหมือนในข้อ ๑ พอจิตถอยออกมาถึงขั้นอุปจาระ จะปรากฏนิมิตภาพเหตุการณ์ขึ้น ต้องวิตกถามเสียก่อนแล้วจึงวางนิมิตนั้น แล้วเข้าจิตอีก ถอยออกมา ถึงขั้นอุปจาระก็จะทราบเหตุการณ์นั้นได้

ความรู้โดยอาการ ๓ นี้ ท่านพระอาจารย์ว่า จิตที่ยังเป็นฐีติขณะเป็นเอกัคคตามีอารมณ์เดียว มีแต่สติกับอุเบกขา จะทราบเหตุการณ์ไม่ได้ ต้องถอยจิตออกมาเพียงขั้นอุปจาระจึงมีกำลังรู้ได้ หากถอยออกมาถึงขั้นขณิกะหรือจิตธรรมดาก็ทราบเหตุการณ์ไม่ได้เหมือนกัน เพราะกำลังอ่อนเกินไป

ท่านพระอาจารย์อาศัยไตรวิธญาณนี้เป็นกำลังในการหยั่งรู้หลังเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นส่วนอดีต ปัจจุบัน อนาคต และกำหนดรู้จิตใจ นิสัย ศาสนาของศิษยานุศิษย์ พร้อมทั้งอุบายวิธีทรมานศิษยานุศิษย์ด้วยปรีชาญาณหยั่งรู้โดยวิธี ๓ ประการนี้ จึงควรจะเป็นเนติของผู้จะเป็นครูอาจารย์ของผู้อื่นต่อไป



บำเพ็ญประโยชน์

การบำเพ็ญประโยชน์ของท่านพระอาจารย์ ประมวลลงในหลัก ๒ ประการ ดังนี้

๑.ประโยชน์ชาติ ท่านพระอาจารย์ได้เอาธุระเทศนาอบรมสั่งสอนศีลธรรมอันดีงามแก่ประชาชนพลเมืองของชาติในทุก ๆ ถิ่นที่ท่านได้สัญจรไป คือ ภาคกลางบางส่วน ภาคเหนือเกือบทั่วทุกจังหวัด ภาคอีสานเกือบทั่วทุกจังหวัด และบางส่วนของต่างประเทศ เช่น ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของประเทศลาว ไม่กล่าวสอนให้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองของประเทศ ทำให้พลเมืองของชาติผู้ได้รับคำสั่งสอน เป็นคนมีศีลธรรมดี มีสัมมาอาชีพ ง่ายแก่การปกครองของผู้ปกครอง ชื่อว่าได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ซาติตามควรแก่สมณวิสัย

๒. ประโยชน์ศาสนา ท่านพระอาจารย์ได้บรรพชาและอุปสมบทเข้ามาในพระศาสนานี้ด้วยความเชื่อและความเลื่อมใสจริง ๆ ครั้นบวชแล้วก็ได้เอาธุระศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยด้วยความอุตสาหะพากเพียรจริง ๆ ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญสมณธรรม ท่านปฏิบัติธุดงควัตรเคร่งครัดถึง ๔ ประการ ดังกล่าวแล้วในเบื้องต้น ได้ดำรงรักษาสมณกิจไว้มิให้เสื่อมสูญ ได้นำหมู่คณะฟื้นฟูปฏิบัติธรรมวินัยให้ถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติและพระพุทโธวาท หมั่นอนุศาสน์สั่งสอนศิษยานุศิษย์ให้ฉลาดอาจหาญในการฝึกฝนอบรมจิตใจตามหลักสมถวิปัสสนาอันสมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสสอนไว้

เป็นผู้มีน้ำใจเด็ดเดี่ยว อดทน ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม แม้จะถูกกระทบกระทั่งด้วยโลกธรรมอย่างไรก็มิได้แปรเปลี่ยนไปตาม คงมั่นอยู่ในธรรมวินัย ตามที่พระบรมศาสดาประกาศแล้วตลอดมา ทำตนให้เป็นทิฏฐานุคติแก่ศิษยานุศิษย์เป็นอย่างดี ท่านได้จาริกไปเพื่อแสวงวิเวกตามที่ต่าง ๆ คือ บางส่วนของภาคกลาง เกือบทั่วทุกจังหวัดในภาคเหนือเกือบทุกจังหวัดของภาคอีสาน และแถบบางส่วนของต่างประเทศอีกด้วย นอกจากเพื่อวิเวกในส่วนตัวแล้ว ท่านมุ่งไปเพื่อสงเคราะห์ผู้มีอุปนิสัยในถิ่นนั้น ๆ ด้วย

ผู้ได้รับสงเคราะห์ด้วยธรรมจากท่านแล้ว ย่อมกล่าวได้ด้วยความภูมิใจว่า ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา

ส่วนหน้าที่ในวงการคณะสงฆ์ ท่านพระอาจารย์ได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าในฐานะเจ้าคณะให้คณะธรรมยุตติกนิกายให้เป็นพระอุปัชฌายะในคณะธรรมยุตติกนิกายตั้งแต่อยู่จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูวินัยธร ฐานานุกรมของเจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจนฺทเถร จันทร์) ท่านก็ได้ทำหน้าที่นั้นโดยเรียบร้อยตลอดเวลาที่ยังอยู่เชียงใหม่

ครั้นจากเชียงใหม่มาแล้ว ท่านก็งดหน้าที่นั้น แม้ข้าพเจ้าขอร้องให้ทำในเมื่อมาอยู่สกลนคร ท่านก็ไม่ยอมทำ โดยอ้างว่าแก่ชราแล้ว ขออยู่ตามสบาย ข้าพเจ้าก็ผ่อนตามด้วยความเคารพและหวังความผาสุกสบายแก่ท่านพระอาจารย์

งานศาสนาในด้านวิปัสสนาธุระ นับว่าท่านได้ทำเต็มสติกำลัง ยังศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ให้อาจหาญ ร่าเริงในสัมมาปฏิบัติตลอดมา นับแต่พรรษาที่ ๒๓ จนถึงพรรษาที่ ๕๙ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน อาจกล่าวได้ด้วยความภูมิใจว่าท่านพระอาจารย์เป็นพระเถระที่มีเกียรติคุณเด่นที่สุดในด้านวิปัสสนาธุระผู้หนึ่งในยุคปัจจุบัน



ปัจฉิมสมัย

ในวัยชรานับแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา ท่านมาอยู่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบถไปตามสถานที่วิเวกผาสุกวิหารหลายแห่ง คือ ณ เสนาสนะป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองบ้าง ที่ใกล้ๆ แถวนั้นบ้าง ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายแห่งชีวิต

ตลอดเวลา ๘ ปีในวัยชรานี้ ท่านได้เอาธุระอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนาเป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวัน ศิษย์ผู้ใกล้ชิดได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่แล้ว ให้ชื่อว่า “มุตโตทัย”

ครั้นมาถึง พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างขึ้น ๘๐ ปี ท่านเริ่มอาพาธ เป็นไข้ ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิดก็ได้เอาธุระรักษาพยาบาลไปตามกำลังความสามารถ อาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราว แต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมา จนจวนออกพรรษา อาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษา ศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ไกลต่างก็ทยอยกันเข้ามาปรนนิบัติพยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมาตรวจและรักษา แล้วนำมาพักที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษาและศิษยานุศิษย์ที่จะมาเยี่ยมพยาบาล อาการอาพาธมีแต่ทรงกับทรุดลงโดยลำดับ


ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส ใกล้เมืองสกลนคร โดยพาหนะรถยนต์ มาถึงวัดเวลา ๑๒.๐๐ น. เศษ ครั้นถึงเวลา ๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ในท่ามกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มีเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์เป็นต้น สิริชนมายุของท่านพระอาจารย์ได้ ๘๐ ปี เท่าจำนวนที่ท่านได้กำหนดไว้แต่เดิม

การที่ศิษยานุศิษย์และผู้เคารพนับถือได้นำท่านพระอาจารย์มาที่วัดป่าสุทธาวาสนี้ ก็ให้เป็นไปตามเจตนาเดิมของท่านพระอาจารย์ คือ เมื่อเริ่มป่วยหนัก ท่านแน่ในใจว่าร่างกายนี้จะต้องเป็นไปตามธรรมดาของเขาแล้ว จึงปรารภกับศิษย์ผู้ใหญ่รูปหนึ่งว่า “ถ้าตายลง ณ บ้านหนองผือนี้ สัตว์ก็จะต้องตายตามมิใช่น้อย ถ้าตายที่วัดสุทธาวาสก็ค่อยยังชั่วเพราะมีตลาด” ดังนี้

นอกจากมีความเมตตาสัตว์ที่จะต้องถูกฆ่าแล้ว คงมุ่งหมายฝากศพแก่ชาวเมืองสกลนครด้วย ข้าพเจ้าอดที่จะภูมิใจแทนชาวเมืองสกลนครในการที่ได้รับเกียรติอันสูงนี้ไม่ได้ อุปมาดังชาวมัลลกษัตริย์กรุงกุสินาราราชธานี ได้รับเกียรติจัดการพระบรมศพและถวายพระเพลิงพุทธสรีระฉะนั้น เพราะท่านพระอาจารย์เป็นที่เคารพนับถือของคนมาก ได้เที่ยวไปหลายจังหวัดของประเทศไทย ครั้นถึงวัยชรา ท่านก็เลือกเอาจังหวัดสกลนครเป็นที่อยู่อันสบายและทอดทิ้งสรีระกายไว้ ประหนึ่งจะให้เห็นว่าเมืองสกลนครเป็นบ้านเกิดเมืองตายของท่านฉะนั้น ในสมัยทำการฌาปนกิจศพของท่านพระอาจารย์นั้น ชาวเมืองสกลนครยังจะมีเกียรติได้ต้อนรับศิษยานุศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านอันมาจากทิศต่าง ๆ มากมายหลายท่านอีกด้วย

ธรรมอันน่าอัศจรรย์ในท่าน อันประจักษ์แก่ศิษยานุศิษย์ที่ไม่ควรลืมก็คือ ในสมัยอาพาธหนักเมื่อยังพูดได้ ท่านได้แสดงธรรมให้ฟังอยู่ตลอดมา ไม่มีการสะทกสะท้านต่อมรณภัยแต่ประการใด ยังกล่าวท้าทายศิษย์ทั้งหลายด้วยว่า “ใครจะสามารถรดน้ำให้ไม้แก่นล่อนแก่นหล้อน (แก่นล่อน) น. ไม้เนื้อแข็งตายยืนต้น เปลือกกร่อนหมด เรียกไม้แก่นหล้อน กลับมีใบขึ้นมาอีกได้ ก็ลองดู”

ในเมื่อศิษย์ขอรักษาพยาบาล แต่เพื่ออนุเคราะห์ ท่านก็ยินยอมให้รักษาพยาบาลไปตามเรื่อง ครั้นเวลาอาพาธหนักถึงที่สุด สังขารร่างกายไม่ยอมให้โอกาสท่านพูดจาได้เลย เพราะเสมหะเฟื่องปิดลำคอ ยากแก่การพูด จึงมิได้รับปัจฉิมโอวาทอันน่าจับใจแต่ประการใด คงเห็นแต่อาการอันแกล้วกล้าในมรณาสันนกาลเท่านั้นเป็นขวัญตา ศิษยานุศิษย์ต่างก็เต็มตื้นไปด้วยปีติปราโมทย์ในอาการนั้น ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนัก และต่างก็ปลงธรรมสังเวชในสังขารอันเป็นไปตามธรรมดาของมัน ใครๆ ไม่เลือกหน้าเกิดมาแล้วจะต้องแก่เจ็บตายเหมือนกันหมด ไม่มีใครล่วงพ้นไปได้สักคนเดียว มีแต่อมฤตธรรมคือพระนิพพานเท่านั้นที่พ้นแล้วจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยสิ้นเชิง ผู้บรรลุถึงอมฤตธรรมนั้นแล้ว แม้ต้องทอดทิ้งสรีระไว้อย่างสามัญชนทั้งหลาย ก็คงปรากฏนามว่า ผู้ไม่ตาย อยู่นั่นเอง

เพลงประวัติหลวงปู่มั่น (เพลิน พรมแดน)